สารวัด ฉบับที่ 871 วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553 เทศกาลธรรมดา

บอกเล่าให้ฟัง

การมีส่วนร่วมในพิธีกรรมเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของบรรดาสัตบุรุษ ในอดีตดูเหมือนว่าสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีกรรม จะเป็นผู้ชมการประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ และมาฟังพระสงฆ์สวดบทภาวนาที่ตนเองไม่เข้าใจ เพราะเราใช้ภาษาลาตินในพิธีกรรม หลังจากพระสังคายนาวาติกันที่ 2 พระศาสนจักรประกาศให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในพิธีกรรม และเน้นย้ำเสมอว่า “สัตบุรุษต้องมีส่วนร่วมในพิธีกรรมตามบทบาทหน้าที่ของตน” ในหนังสือประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 235 กล่าวไว้ว่า “พระศาสนจักรประกอบพิธีกรรมบนแผ่นดินนี้ในฐานะประชากรสงฆ์ ซึ่งแต่ละคนก็กระทำตามหน้าที่ของตน ในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระจิต ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมกันถวายเครื่องบูชาฝ่ายจิต ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชประกอบพิธีกรรมตามศีลบวชที่ได้รับเพื่อรับใช้สมาชิกทุกคนของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์กระทำในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้เป็นศีรษะ” (ccc. 235)

สัตบุรุษสามารถมีส่วนร่วมในพิธีกรรมได้หลายอย่าง อาทิ การอ่านบทอ่าน การเป็นผู้ช่วยพิธีกรรม การตอบรับกับพระสงฆ์ การขับร้องในพิธีกรรม ฯลฯ เพราะฉะนั้นเวลามาร่วมพิธีกรรมเป็นต้นมิสซาบูชาขอบพระคุณสัตบุรุษต้องตั้งใจ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และต้องไม่ปฏิบัติกิจศรัทธาอื่นๆ ในขณะร่วมพิธีกรรมนั้นๆ สมัยก่อนนิยมสวดสายประคำระหว่างร่วมมิสซาบูชาขอบพระคุณ สมัยนี้เราต้องไม่ปฏิบัติอย่างที่เคยทำมาแล้ว เพราะเราสามารถร่วมพิธีกรรมด้วยภาษาที่เราเข้าใจได้แล้ว ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่ปฏิบัติจนเคยชินไปเสียแล้วก็คงต้องยกเว้นกันไป ถ้าเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ เราจะเห็นว่าพระศาสนจักรในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการร่วมพิธีกรรมของสัตบุรุษเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นกิจการใดๆ ที่สัตบุรุษต้องทำร่วมกันโดยพร้อมเพรียง พระศาสนจักรก็จะพยายามเน้นย้ำให้ทุกคนทำอย่างจริงจังและเอาใจใส่ ตัวอย่างการขับร้องคณะขับร้อง ต้องเป็นเพียงเสียงนำหรือต้นเสียง ให้ทุกคนสามารถร้องเพลงโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งต่างจากการมาแสดงคอนเสิร์ตหรือมาโชว์การขับร้องประสานเสียง เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อจึงขอความร่วมมือจากพี่น้องทุกท่าน ให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างจริงจัง โดยตอบรับกับพระสงฆ์ ร้องเพลงสรรเสริญพระเป็นเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน พ่อคิดว่าพี่น้องจะร้องเพลงร่วมกันได้ พี่น้องต้องเปิดหนังสือดูเนื้อเพลง พี่น้องครับพ่อฝันว่าวันหนึ่งพ่อจะได้ยินสัตบุรุษร้องเพลงพร้อมกันทั้งวัด และพ่อสามารถร่วมร้องไปด้วยเบาๆ ไม่ต้องร้องออกไมโครโฟน คณะขับร้องก็ร้องพอเป็นต้นเสียงเท่านั้น ถ้าวันนั้นมาถึงก็หมายความว่า เราได้มีโอกาสขับร้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าอย่างสง่างาม และสมบูรณ์แบบที่สุด

จากคุณพ่อเจ้าวัด

ความเสมอภาคในสังคม

อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัสทำให้เราคิดถึงความไม่เสมอภาคในสังคม บางคนมีมากจนเหลือทิ้ง ส่วนอีกบางคนยากจนเข็ญใจจนไม่มีอะไรจะกิน “เศรษฐีผู้หนึ่ง แต่งกายหรูหราด้วยผ้าเนื้อดีราคาแพง จัดงานเลี้ยงใหญ่ทุกวัน คนยากจนผู้หนึ่งชื่อลาซารัสนอนอยู่ที่ประตูบ้านของเศรษฐีผู้นั้น เขามีบาดแผลเต็มตัว อยากจะกินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของเศรษฐี” (ลก.16:19-21) ความไม่เสมอภาคในสังคมไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่โลกของเราและประเทศของเราต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับปัญหานี้ก็คือ “การหลงอยู่ในวังวนของอุคมการณ์อันเลื่อนลอยซึ่งเกิดมาจากความไม่เข้าใจเรื่องความเสมอภาคอย่างแท้จริง” หลายคนพยายามแก้ปัญหานี้บนพื้นฐานความคิดของการมีเท่าๆกัน หรือทัดเทียมกัน เราสามารถบอกได้เลยว่านี่เป็นอุดมการณ์อันเลื่อนลอย ในอดีตเคยมีความพยายามแก้ไข้ปัญหาด้วยวิธีการแบบนี้หลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จสักครั้งเดียว ความเสมอภาคที่แท้จริงหมายถึง การที่มนุษย์ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส ทำให้เราเห็นความแตกต่างระหว่างคนสองประเภท คนหนึ่งมีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยหรูหรา กับอีกคนหนึ่งมีสภาพไม่สมกับการเป็นมนุษย์ ต้องคอยรับเดนเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของเศรษฐีแต่ไม่ใครสักเหลียวแลเขาเลย แต่ละคนก็ใช้ชีวิตคิดแต่ธุระของตนเอง และคิดว่าธุระไม่ใช่

ข้อสังเกตจากอุปมาเรื่องนี้คือ ในเนื้อเรื่องไม่ได้บอกว่าคนจนเป็นคนชอบธรรม และเศรษฐีคนนั้นเป็นคนชั่ว ขี้โกง กดขี่เบียดเบียนคนจนแต่อย่างใด เพียงแต่เขาไม่ได้สนใจใยดีเหลียวแลคนจน ก่อให้เกิดช่องว่างเหวลึกระหว่างเขากับคนจน ซึ่งทั้งสองมีสภาพต่างกันราวกับฟ้าดิน ความเสมอภาคในสังคม จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมนุษย์ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั่นหมายความว่ามนุษย์ต้องดำเนินชีวิตด้วยความรักความเมตตามีใจกว้าง พร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งตนเองมีให้กับคนที่ด้อยกว่า คนที่มีมากก็อย่าครอบครองไว้เสียคนเดียว แต่ต้องเหลียวแลผู้ด้อยโอกาสกว่าด้วย หลายคนคิดว่าการมั่งมีของฉันที่มาจากน้ำพักน้ำแรง และวิธีการสุจริตมันผิดตรงไหน การหาเงินทองได้มากด้วยวิธีการสุจริตก็ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เราเป็น และสิ่งที่เรามีล้วนมาจากพระเป็นเจ้า และพระองค์ประทานให้กับเราเพื่อเราจะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคน มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิ์ที่จะใช้สิ่งสร้างเหล่านี้ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ ถ้าเผอิญเราเก่งกว่ามีมากกว่าเราต้องขอบคุณพระเป็นเจ้า และสำนึกถึงหน้าที่ที่เราต้องใช้สิ่งที่เรามีในการแสดงความรักแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่มีน้อยกว่า เพราะสิ่งที่เรามีก็เป็นผลประโยชน์ที่เราตักตวงจากผู้อื่นด้วยเหมือนกัน ถ้าคนในสังคมมีความสำนึกที่จะคืนประโยชน์ให้แก่สังคมกันบ้าง เราก็จะสามารถสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค เพราะมนุษย์ทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

พระเจ้าสถิตกับท่าน
คุณพ่อ สมชาย อัญชลีพรสันต์

ประกาศ

  1. เดือนตุลาคม เป็นเดือนแม่พระ ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะเชิญแม่พระและคณะสวดไปสวดตามบ้าน ลงชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และที่สังเกตที่ชัดเจนได้ที่หน้าวัด
  2. ประชุมสภาภิบาลเตรียมฉลองคริสตมาสและฉลองวัด วันอาทิตย์ที่ 3 ต.ค. 2010 เชิญสภาภิบาลประชุมโดยพร้อมเพรียง
  3. วันอังคารที่ 28 – วันพุธที่ 29 ก.ย. 2010 พระสงฆ์เข้าเงียบประเดือน ของดมิสซาและขอคำภาวนาด้วย
  4. ขอเชิญร่วมซ้อมขับร้องเตรียมฉลองคริสตมาสและฉลองวัด เริ่มเดือนตุลาคมวันเสาร์ หลังมิสซา
  5. ค่ายกระแสเรียก
    — ค่ายของบ้านเณรเล็กยอแซฟ สามพราน วันที่ 11 – 14  ตุลาคม 2010 ลงทะเบียนเข้าค่ายที่บ้านเณรเล็กยอแซฟ สามพราน เวลา 8.30 – 11.00 น. และเวลา 13.00 น. จะเดินทางไปบ้านมารีอา จันทบุรี
    — ค่ายกางเขนแดงคณะคามิเลียน วันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2010 (ไม่นับวันไปและกลับ) ที่บ้านเณรเล็กคามิเลียน ศรีราชา คุณสมบัติทั่วไป เป็นเด็กชายแท้ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 ขึ้นไป

Tags: , ,

'งดแสดงความคิดเห็น'.