สารวัด ฉบับที่ 864 วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2553 เทศกาลธรรมดา

บอกเล่าให้ฟัง

ความปรารถนาหมายถึง ความรู้สึกพอใจ อารมณ์หรือการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ความปรารถนาเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ ซึ่งผลักดันให้เรากระทำหรือไม่ให้กระทำสิ่งที่คิดว่าดีหรือไม่ดี อาทิ ความรัก ความเกลียด ความเศร้า ความโกรธ ความยินดี ฯลฯ ความปรารถนา ถ้าเป็นการกระทำของประสาทสัมผัส ไม่ใช่ความดีและความชั่วในตัวของมันเอง จะเป็นความดีต่อเมื่อก่อให้เกิดการกระทำที่ดี จะเป็นความชั่วก็ต่อเมื่อก่อให้เกิดการกระทำที่ชั่ว (ccc.370-371) เวลาที่เราเรียนคำสอนเรื่องของบาป เราได้เรียนรู้ว่ามนุษย์อาจทำบาปได้ 5 วิธี ด้วยความคิด ด้วยความปรารถนา ด้วยวาจา ด้วยกิจการ และด้วยการละเลย แสดงว่าการทำบาปไม่ใช่เป็นเพียงกิจการเท่านั้น แต่เป็นได้ทั้งในความคิด ความปรารถนา และการละเลยในสิ่งที่เราควรกระทำแต่เราไม่กระทำ

การพิจารณามโนธรรมหรือพิจารณาบาปจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องการเวลาในการทำอย่างต่อเนื่อง บ่อยๆ และสม่ำเสมอ ยิ่งเราทำบ่อยเท่าไรมโนธรรมของเราจะดีขึ้นเท่านั้น มโนธรรมที่ดีก็คือความสำนึกที่สามารถแยกผิดชอบชั่วดีได้อย่างแม่นยำ การสัมมนาทำแผนประกาศข่าวดีของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯครั้งนี้ พระอัครสังฆราชของเราได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความแตกแยก และความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไว้อย่างน่าฟังทีเดียว ท่านกล่าวว่า “ต่อหน้าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ศาสนาเป็นต้นศาสนาของเราสามารถเป็นมโนธรรมของสังคมได้หรือไม่” การเป็นมโนธรรมของสังคมได้หรือไม่หมายถึง ศาสนาช่วยให้คนแยกแยะดีชั่วผิดถูกได้หรือไม่ สำหรับพ่อแล้วพ่อไม่คิดไกลถึงขนาดนั้นหรอก พ่อคิดแค่ในชุมชนวัดของเรา ในครอบครัวของเรา พระสงฆ์ พ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ สามารถเป็นมโนธรรมทางสังคมให้กับลูกหลานได้หรือเปล่า เราจะเป็นได้ต่อเมื่อเรามีมโนธรรมที่เที่ยงตรง สามารถแยกแยะผิดถูกได้ถูกต้อง และดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างสำหรับลูกหลานของเรา ดังนั้นการพิจารณามโนธรรม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดีบ่อยๆบนบรรทัดฐานที่ถูกต้อง บรรทัดฐานของการพิจารณามโนธรรมก็คือ พระบัญญัติของพระเป็นเจ้าและพระศาสนจักร และหรือคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ที่พ่อเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะพ่อคิดว่าสิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ กำลังหายตายจากความคิดคำนึงของเรา เราจะต้องรื้อฟื้นทำให้มันกลับคืนชีพขึ้นใหม่ เพื่อความสงบสุขในสังคมของเรา

จากคุณพ่อเจ้าวัด

ชีวิตเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมาย

ปราชญ์เมทีหลายท่านเปรียบชีวิตมนุษย์เหมือนการเดินทาง ถ้าเราสังเกตความเป็นไปและเข้าใจสัจธรรมของชีวิตอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะพบว่าสิ่งที่ปราชญ์เมทีเหล่านี้เปรียบเปรยไว้ ไม่ได้ห่างไกลจากสัจธรรมความจริงของชีวิตเท่าใดนัก เพราะชีวิตของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เสมือนว่าเรากำลังถูกผลักให้เคลื่อนไปข้างหน้าทุกวันพร้อมกับวันเวลา เรามีอายุมากขึ้นทุกวันจากเด็กเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เราเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จนถึงเขตแดนสุดท้ายของชีวิตบนโลกใบนี้คือความตาย ความตายจึงดูเหมือนเป้าหมายสุดท้าย ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องไปถึงสักวันหนึ่ง ในอดีตมีมนุษย์บางกลุ่มเข้าใจผิดเช่นนี้เหมือนกัน พวกเขาคิดว่า “ในเมื่อมนุษย์จบสิ้นทุกสิ่งเมื่อตาย การทำความดีจะมีประโยชน์อะไร” ดังนั้นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องหาความสุขให้เต็มที่ด้วยวิธีการใดๆก็ได้ ความคิดเช่นนี้เป็นอันตราย และเป็นการบ่อนทำลายความสงบสุขในสังคม เพราะมันทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอย่างไร้แก่นสาร ไม่มีเป้าหมายในชีวิต

สำหรับเราผู้ที่มีความเชื่อชีวิตเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมาย เป้าหมายของเราไม่ใช่ความตาย แต่เป็นชีวิตนิรันดรมีความสุขกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์ ความตายจึงเป็นเพียงประตูเข้าสู่นิรันดรภาพ การเดินทางแบบนี้เป็นเหมือนกับการเดินทางของอับราฮัม ที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกให้ออกเดินทางไปยังดินแดนที่ท่านไม่รู้จัก แต่ที่นั่นเป็นดินแดนแห่งพระสัญญา การเดินทางเช่นนี้เรียกร้องความเชื่อความวางใจในพระเป็นเจ้าจนหมดหัวใจ เราก็เช่นเดียวกันเรากำลังเดินทางไปสู่นิรันดรภาพ ชีวิตหลังความตายซึ่งเราไม่เคยมีประสบการณ์ เราจึงต้องมีความเชื่อและความวางใจในพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกับอับราฮัม ซึ่งเป็นความเชื่อและวางใจในสิ่งที่ยังไม่บรรลุผล ยังเข้าใจไม่ครบถ้วน การเดินทางชีวิตของเราเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับอับราฮัมเดินทางไปดินแดนพระสัญญา แต่สำหรับเราคือมีความสุขนิรันดรกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์ เราจะไปถึงเป้าหมายแท้ของชีวิตได้ หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของเราบนโลกนี้ พระเยซูคริสตเจ้าจึงสอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบมุ่งมั่นในการทำความดีเสมอ เป็นดั่งผู้รับใช้ที่คอยนายกลับมาอย่างไม่รู้วันเวลา แต่ต้องพร้อมที่จะเปิดประตูทันทีเมื่อนายมาถึงและเคาะเรียก “จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับจากงานสมรสเมื่อนายมาเคาะประตูจะได้เปิดรับ ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่”(ลก.12:36-37) การดำเนินชีวิตของเราจึงต้องเป็นการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าทุกๆวัน ในการทำคุณงามความดีแสดงความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เพื่อเราจะได้พร้อมเสมอในการต้อนรับการกลับมาของนายคือองค์พระเยซุคริสตเจ้า “จงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย” (ลก.12:40)

พระเจ้าสถิตกับท่าน
คุณพ่อ สมชาย อัญชลีพรสันต์

ประกาศ

  1. วันศุกร์ที่ 13 – วันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค. 2010 แผนกเยาวชนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จัด “เข้าเงียบชีวิตฝ่ายจิตของเยาวชน” โดย คุณพ่อ มหาร์โซโน โปรโบ ที่บ้านสวนยอแซฟ สามพราน เยาวชนที่สนใจติดต่อได้ที่คุณไพโรจน์ ผู้อำนวยการสภาภิบาล
  2. วันเสาร์ที่ 14 ส.ค. 2010 จะมีพิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์ ผู้ช่วยพิธีกรรม และบวชสังฆานุกร ที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรม สามพราน เวลา 10.00 น. บราเดอร์ นฤพนธ์ แก้วหาวงษ์ ซึ่งช่วยงานอภิบาลที่วัดของเรา จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพิธีกรรมในวันนั้นด้วย ผู้ที่ต้องการไปร่วมงานลงชื่อได้ที่หน้าวัด ทางวัดจะจัดรถไป
  3. วันพุธที่ 11-วันพฤหัสฯที่ 12 ส.ค. 2010 พระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯเข้าเงียบประจำเดือน ของดมิสซาตามตารางเวลา และขอคำภาวนาจากพี่น้องด้วย
  4. วันพฤหัสฯที่ 12 ส.ค. 2010 จะมีพิธีโปรดศีลล้างบาปให้คริสตังใหม่ 3 ท่าน มิสซา เวลา 19.00 น. ขอเชิญพี่น้องมาร่วมแสดงความยินดีกับคริสตังใหม่และขอคำภาวนาสำหรับงานสอนคำสอนของวัดและคริสตังใหม่ด้วย

Tags: , ,

'งดแสดงความคิดเห็น'.